วันศุกร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ความหมายและความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร


ความหมายของเทคโนโลยีสารสนเทศ

 

            คำว่า   เทคโนโลยีสารสนเทศ ประกอบคำ 2 คำ ได้แก่ เทคโนโลยี และ สารสนเทศซึ่งแต่ละคำมีความหมายดังนี้

 

            เทคโนโลยี  (Technology)  เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละตินว่า  TEXERE  มีความหมายตรงกับภาษาอังกฤษ ว่า  toweave  แปลว่า  สาน  เรียบเรียง  ถักทอ ปะติดปะต่อ และ  construct  แปลว่า  สร้าง  ผูกเรื่อง  ความรู้สึกนึกคิดที่ก่อให้เกิด ส่วนเทคโนโลยี ในรากศัพท์ภาษากรีกมาจากคำว่า technologia แปลว่า การทำงานอย่างเป็นระบบ (systematic treatment) (วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม, 2539)

            คาร์เตอร์ วี กู๊ด  (Good, 1973)  ได้ให้ความหมายของเทคโนโลยี ว่า หมายถึง  การนำเอา

วิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในวงการต่างๆ โดยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น

 

            เอดการ์ เดล (Dale, 1965) กล่าวว่า เทคโนโลยีไม่ใช่เครื่องมือ  แต่เป็นแผนการวิธีการทำงานอย่างเป็นระบบที่ให้ผลบรรลุตามแผนการ

 

             ไฮนิช และ คนอื่นๆ  (Heinech and Others, 1989)   ได้อธิบายว่า เทคโนโลยีจำแนกออกเป็น  3  ลักษณะ คือ

 

            1)  เทคโนโลยีในลักษณะของกระบวนการ (process) เป็นการใช้วิทยาศาสตร์และความรู้ต่างๆ ที่รวบรวมไว้อย่างเป็นระบบเพื่อนำไปสู่ผลในทางปฏิบัติโดยเชื่อว่าเป็นกระบวนการที่เชื่อและนำไปสู่การแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้

 

            2)  เทคโนโลยีลักษณะของผลผลิต  (product and product)  หมายถึง  วัสดุและอุปกรณ์ที่เป็นผลมาจากการใช้กระบวนการทางเทคโนโลยี เช่น ฟิล์มภาพยนตร์เป็นผลผลิตของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเช่นเดียวกับเครื่องฉายภาพยนตร์ หรือหนังสือเป็นผลผลิตของเทคโนโลยีเช่นเดียวกับแท่นพิมพ์หนังสือ เป็นต้น

 

           3)  เทคโนโลยีลักษณะผสมของกระบวนการและผลผลิต  (process and product)  ซึ่งใช้ร่วมกันสองลักษณะ เช่น เทคโนโลยีช่วยให้ระบบการรับส่งข้อมูลเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว  ทั้งนี้เป็นผลจากความก้าวหน้าของการประดิษฐ์วัสดุอุปกรณ์เพื่อการรับส่งข้อมูล ตลอดจนเทคนิควิธีการต่างๆ เพื่อให้ระบบส่งข้อมูลเป็นไปได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว และในลักษณะของกระบวนการซึ่งไม่สามารถแยกออกจากผลผลิตได้  เช่น  ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีการทำงานเป็นปฏิสัมพันธ์กันระหว่างตัวเครื่องกับโปรแกรม เป็นต้น

 

            ชัยยงค์ พรหมวงศ์ (2520) ได้ให้ความหมายของเทคโนโลยีไว้ว่าตามรูปศัพท์ภาษาอังกฤษคำว่า Technology ซึ่งหมายถึงการปฏิบัติการ และสิ่งประดิษฐ์ที่อยู่ในรูปแบบของการจัดระบบงานอันประกอบด้วยองค์สาม คือ

 

            1)  ข้อมูลที่ใส่เข้าไป ได้แก่ การกำหนดปัญหาหรือความต้องการ การตั้งวัตถุประสงค์ การรวบรวมข้อมูลหรือวัตถุดิบที่เกี่ยวข้องทุกแง่ทุกมุม

 

            2)  กระบวนการ  ได้แก่  การลงมือปฏิบัติการ  การแก้ปัญหา  การจำแนกแจกแจง  การวิเคราะห์และการสังเคราะห์ข้อมูล   เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุวัตถุประสงค์

 

            3)  ผลลัพธ์  คือ  ผลที่ได้จากการแก้ปัญหาหรือการดำเนินงาน  สามารถวัดและประเมินผลได้ นอกจากนี้ยังสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทุกขั้นตอน

 

ทัศนะเกี่ยวกับเทคโนโลยี

 

            จากความหมายของเทคโนโลยีดังกล่าวมาแล้ว ทำให้นักการศึกษามีทัศนะหรือความคิดเห็นเกี่ยวกับเทคโนโลยีแตกต่างกัน โดยแบ่งออกเป็น  2  ทัศนะ  คือ

 

           1.  ทัศนะด้านวิทยาศาสตร์กายภาพ  (science technology)  มุ่งเน้นการพัฒนาวัสดุอุปกรณ์ให้เจริญก้าวหน้าด้วยความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เพื่อสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการดำเนินงานสาขาต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยทั่วไปวัสดุอุปกรณ์เทคโนโลยีมีองค์ประกอบสำคัญคือ เครื่องยนต์ กลไก ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ตามเครื่องมือหรือวัสดุอุปกรณ์เหล่านี้นักการศึกษาให้ความเห็นว่าเป็นเทคโนโลยีประเภทเครื่องมือ  (Tools technology)

 

            2.  ทัศนะด้านพฤติกรรมศาสตร์  (behavioral technology)  เป็นเทคโนโลยีที่มุ่งเน้นกระบวนการคิดและการทำงานอย่างเป็นระบบ โดยอาศัยการผสมผสานความรู้จากศาสตร์หลายๆ ด้านเข้าด้วยกัน เช่น มนุษยศาสตร์ จิตวิทยาสังคม  จิตวิทยาการเรียนการสอน  ประวัติศาสตร์  เศรษฐศาสตร์ ฯลฯ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะสำคัญของแต่ละงานในบางสถานการณ์อาจนำวัสดุอุปกรณ์เข้ามาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินงาน  แต่เป็นเพียงเครื่องมือสนับสนุนเท่านั้น

 

            จากความหมายและลักษณะของเทคโนโลยีดังกล่า;มาแล้วพอสรุปได้ว่า เทคโนโลยี หมายถึง วิธีการหรือกระบวนการในการนำความรู้สาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานมาประยุกต์ใช้อย่างเป็นระบบ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นการดำเนินงานที่มีระบบและวิธีการที่ก้าวหน้าจึงนิยมใช้คำว่าเทคโนโลยีนำหน้าเสมอ เช่น เทคโนโลยีการสื่อสาร  เทคโนโลยีการเกษตร  เทคโนโลยีการศึกษา  เทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น

 

สารสนเทศ (Information)

 

            ปัจจุบันคำว่าสารสนเทศได้เข้ามามีบทบาทกับวงการต่างๆ  ในสังคมกว้างขวาง  และมักนิยมใช้ควบคู่ไปกับเทคโนโลยีและเรียกเป็นคำเดียวกันว่าเทคโนโลยีสารสนเทศต่อมาเพิ่มเติมเป็นเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร   ซึ่งแต่ละคำมีพัฒนาการที่มีความหมาย  ดังนี้

 

             คณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ  (2543)  ได้ให้นิยามของสารสนเทศ ว่า หมายถึง ข้อมูล ข่าวสาร และความรู้ ไม่ว่าจะปรากฏในรูปแบบของตัวอักษร ตัวเลข เสียงและภาพ หรือในรูปแบบอื่นใดที่สื่อความหมายได้ และยังให้ความเห็นว่า  สารสนเทศ  เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการก่อให้เกิดสังคมแห่งปัญญาและช่วยเกื้อหนุนการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

 

            สารสนเทศ  หมายถึง  ข้อมูลที่ได้รับตีความ  จำแนกแจกแจง  จัดหมวดหมู่  หรือประมวลผลจนมีสาระอยู่ในตัวมันเอง  สามารถสื่อความหมายให้เกิดการเข้าใจกับผู้ที่ต้องการใช้ข้อมูลนั้น และสามารถที่จะนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้ โดยข้อมูลที่นำมาประมวลผลนั้นอาจจะมาจากแหล่งต่าง ๆ ทั้งภายในหรือภายนอกองค์การ

 

เทคโนโลยีสารสนเทศ  (Information Technology)

 

            เมื่อเนื้อหาข้อมูลมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมากมายมหาศาล  เราจึงนำคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในการจำแนก  จัดหมวดหมู่  จัดเก็บข้อมูลและสารสนเทศ  ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นจึงเรียกวิธีการดำเนินงานเช่นนี้ว่าเทคโนโลยีสารสนเทศ  (Information Technology : IT)

 

             คณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ (2543) ได้ให้ความหมายของเทคโนโลยีสารสนเทศว่า หมายถึง ความรู้ในผลิตภัณฑ์หรือในกระบวนการดำเนินงานใด ๆ ที่อาศัยเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ การติดต่อสื่อสาร การรวบรวมและการนำข้อมูลมาใช้ทันการเพื่อก่อให้เกิดประสิทธิภาพทั้งทางด้านการผลิต การบริการ การบริหาร และการดำเนินการ รวมทั้งเพื่อการศึกษาและการเรียนรู้  ซึ่งจะส่งผลต่อความได้เปรียบทางด้านเศรษฐกิจ  การค้า  และการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุณภาพของประชาชนในสังคม  ดังนั้นเทคโนโลยีสารสนเทศ จึงเป็นการนำวิทยาการที่ก้าวหน้าทางด้านคอมพิวเตอร์ผสมผสานกับการสื่อสาร ทำให้สารสนเทศมีประโยชน์ในการใช้งานได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น

 

เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology)

 

            ปัจจุบันกระแสโลกาภิวัตน์แผ่อิทธิพลไปสู่สังคมโลกทำให้ข้อมูลข่าวสารสามารถเชื่อมโยงกันแบบเครือข่ายหรือใยแมงมุมได้ทั่วทุกมุมโลกโดยใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีการสื่อสาร เช่น  โทรศัพท์ ดาวเทียม เส้นใยแก้วนำแสง ไมโครเวฟ ผสมผสานกันเพื่อให้สามารถสื่อสารกันได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้นเราจึงเรียกกระบวนการนี้ว่า เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  (Information Communication Technology : ICT)

 

ความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศ

 

            ปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทอย่างแพร่หลาย  เป็นที่สนใจของคนทุกมุมโลกทุกสาขา สามารถนำมาใช้ในการดำเนินงานและชีวิตประจำวันได้อย่างกว้างขวางการจัดการเรียนรู้และการศึกษาในสมัยนี้จึงมีหลักสูตรที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีเข้าไปด้วย เทคโนโลยีที่มีความสำคัญและเจริญก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ได้แก่ เทคโนโลยีสารสนเทศ  เพราะปัจจุบันนี้อุปกรณ์หลายชนิดก็ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีสารสนเทศ  ไม่ว่าจะเป็น  คอมพิวเตอร์  โทรศัพท์  มือถือ  อินเทอร์เน็ต  PDA  GPS  ดาวเทียมและเมื่อไม่นานมานี้มีการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์  เป็นการบ่งบอกว่าสังคมให้ความสำคัญแก่คอมพิวเตอร์มากขึ้น

 

เทคโนโลยีสารสนเทศมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ เป็นอย่างมาก ดังนี้

 

            1)  ด้านวิชาการ เทคโนโลยีสารสนเทศช่วยในการค้นคว้าศึกษาแหล่งข้อมูล  ทำให้การศึกษาง่ายขึ้นและไร้ขีดจำกัด  ผู้เรียนมีความสะดวกในการศึกษาค้นคว้าวิจัย

 

             2)  การดำรงชีวิตประจำวัน  ช่วยให้มีความสะดวกคล่องตัวและรวดเร็วในการทำกิจกรรมต่าง ๆ สามารถทำงานได้หลายอย่างในเวลาเดียวกัน ช่วยให้การทำงานใช้เวลาน้อยลง

 

            3)  การดำเนินธุรกิจ  ทำให้มีการแข่งขันระหว่างธุรกิจมากขึ้น  ทำให้ต้องมีการพัฒนาองค์กรเพื่อให้ทันกับข้อมูลข่าวสารอยู่ตลอดเวลา  ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง

 

            4)  ด้านการติดต่อสื่อสาร  ความเจริญก้าวหน้าของวิทยาการต่างๆ  และปรากฏการณ์โลก

ไร้พรมแดน   ทำให้ผู้คนในสังคมมีการติดต่อสื่อสารซึ่งกันและกัน   ได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง

 

            5)  ด้านผลผลิต  ระบบการทำงานที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือ  จะช่วยให้ทำงานได้มากขึ้น หรือช่วยลดความเสี่ยงในงานบางอย่างโดยใช้คอมพิวเตอร์ทำงานแทนซึ่งได้ผลถูกต้องรวดเร็ว

 

ลักษณะสารสนเทศที่ดี

 

      สารสนเทศที่ดีและมีประโยชน์ในการใช้งานควรมีลักษณะดังนี้

 

ด้านเนื้อหา (Content)

          -  ความสมบูรณ์ครอบคลุม  (completeness)

          -  ความสัมพันธ์กับเรื่อง  (relevance)

          -  ความถูกต้อง  (accuracy)

          -  ความเชื่อถือได้  (reliability)

         -  การตรวจสอบได้  (verifiability)

 

ด้านรูปแบบ (Format)

         -  ชัดเจน  (clarity)

        -  ระดับรายละเอียด  (level of detail)

        -  รูปแบบการนำเสนอ  (presentation)

        -  สื่อการนำเสนอ  (media)

         -  ความยืดหยุ่น  (flexibility)

 

ด้านประสิทธิภาพ  (efficiency)

         -  ประหยัด  (economy)

         -   เวลา  (Time)

         -  ความรวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์  (timely)

         -   การปรับปรุงให้ทันสมัย  (up-to-date)

          -  มีระยะเวลา  (time period)

 

ด้านกระบวนการ (Process)

        -  ความสามารถในการเข้าถึง  (accessibility)

        -  การมีส่วนร่วม  (participation)

        -  การเชื่อมโยง  (connectivity)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น